อันตรายจากสารเคมี คือ สารเคมีที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายมนุษย์หรือแม้กระทั่งทำให้เสียชีวิตได้ ตามข้อมูลของ OSHA อันตรายทางเคมีและสารพิษของสารเคมีอันตรายก่อให้เกิดผลกระทบด้านสุขภาพได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
เช่น เกิดการระคายเคือง การแพ้ การก่อมะเร็ง และอันตรายทางกายภาพ เช่น การติดไฟ การกัดกร่อน และการระเบิด ดังนั้นความปลอดภัยในการทำงานและการหลีกเลี่ยงอันตรายเหล่านี้จึงเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกเสมอ
จะป้องกันอันตรายจากสารเคมีได้อย่างไร
สำหรับคนงานในอุตสาหกรรมเคมี การสัมผัสกับสารเคมีอันตรายจากการทำงานกำหนดให้ต้องใช้ PPE (อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล) เพื่อลดความเสี่ยงจากการสัมผัสกับสารเคมีเหล่านั้น
ผู้ผลิตส่วนใหญ่ใช้สารเคมีหลายประเภทในแต่ละวันและมักใช้ในปริมาณมาก ดังนั้น เพื่อให้มั่นใจถึงสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัย จึงต้องมี SOP (มาตรฐานขั้นตอนการปฏิบัติงาน) การควบคุมทางด้านวิศวกรรม และหลักปฏิบัติด้านความปลอดภัยต่างๆ มากมายที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกี่ยวข้องกับการจัดการสารเคมีอย่างปลอดภัย นอกจากนี้ ผู้ปฏิบัติงานจะต้องตรวจสอบฉลากสารเคมีและเอกสารข้อมูลความปลอดภัยทั้งหมดก่อนการปฏิบัติงานเพื่อให้เข้าใจถึงความเป็นอันตรายของสารเคมี และจะต้องดำเนินการประเมินความเสี่ยงรวมถึงเผยแพร่และสื่อสารเกี่ยวกับอันตรายทั้งหมดในสถานที่ทำงานเพื่อส่งเสริมการปฏิบัติงานที่ปลอดภัยให้กับผู้ปฏิบัติงานทุกคน
ผู้ปฏิบัติงานจำเป็นต้องทำความเข้าใจถึงผลกระทบที่เป็นอันตรายของสารเคมีและวิธีที่สารเคมีสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ซึ่งมีอยู่หลายวิธี และเรียนรู้วิธีการป้องกันอันตรายเหล่านี้ในที่ทำงานของตนด้วย ซึ่งการสัมผัสกับสารเคมีอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น
- ปวดศีรษะ
- คลื่นไส้
- ระคายเคืองต่อผิวหนัง
- การบาดเจ็บต่อระบบประสาท
- ความเสียหายของอวัยวะ
- มะเร็ง
ผลกระทบเหล่านี้อาจเป็นระยะสั้นหรือระยะยาว ขึ้นอยู่กับความเป็นพิษของสารเคมีตลอดจนระดับและระยะเวลาของการได้รับสัมผัส ตัวอย่างเช่น ตัวทำละลายบางชนิดอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพในทันทีแต่เพียงชั่วคราวเท่านั้น เช่น ปวดศีรษะ หรือการระคายเคืองต่อผิวหนัง ตัวทำละลายอื่นๆ อาจก่อให้เกิดผลเรื้อรัง เช่น มะเร็งหรือการบาดเจ็บต่อระบบประสาท หากได้รับสารเป็นระยะเวลานาน
สารเคมีเข้าสู่ร่างกายได้อย่างไร
สารเคมีสามารถเข้าสู่ร่างกายของผู้ปฏิบัติงานได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับลักษณะการทำงานของผู้ปฏิบัติงานและมาตรการป้องกันอันตรายของสถานประกอบกิจการนั้นๆ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วสารเคมีสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ดังนี้
- การหายใจเข้า (หายใจเข้า)
- การดูดซึม (ผ่านผิวหนังหรือดวงตา)
- การกลืนกิน (การกินหรือการกลืน)
- การฉีด (ผ่านบาดแผลหรือแผลเปิด)
การป้องกันการรับสัมผัสหรือการสัมผัสกับสารเคมี
เมื่อต้องจัดการหรือทำงานกับสารเคมี คุณควรใช้มาตรการป้องกันเสมอเพื่อป้องกันไม่ให้สารเคมีเข้าสู่ร่างกายของคุณผ่านการสูดดม การกลืนกิน และการสัมผัสทางผิวหนัง ซึ่งในการป้องกันอันตรายจากสารเคมีไม่ใช่หน้าที่ของใครเพียงคนเดียว ทั้งนายจ้างและลูกจ้างจะต้องช่วยกันเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการทำงาน
บทบาทของนายจ้าง
หากมีการใช้สารเคมีอันตรายในสถานที่ทำงานนายจ้างต้องปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
- จัดทำและดำเนินโครงการการจัดการสารเคมีอันตรายในสถานที่ทำงานโดยพิจารณาจากลักษณะของงานและสารเคมีอันตรายที่ใช้
- ดำเนินการประเมินความเสี่ยง (RA) อย่างละเอียดก่อนให้ลูกจ้างดำเนินการใดๆ กับสารเคมี
- ตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีขั้นตอนการทำงานที่ปลอดภัย (SWP) ที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีทั้งหมด
- จัดให้มีการฝึกอบรมและข้อมูลที่จำเป็นสำหรับพนักงานในการทำงานกับสารเคมีอย่างปลอดภัยและดีต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติงาน
- สื่อสารกับพนักงานเกี่ยวกับอันตรายที่เกี่ยวข้องและมาตรการป้องกันที่จะดำเนินการหากพวกเขาสัมผัสกับสารเคมีอันตราย การสื่อสารอันตรายดังกล่าวสามารถทำได้ผ่านเอกสารข้อมูลความปลอดภัย (SDS) และฉลากบนภาชนะบรรจุสารเคมี
- ส่งพนักงานที่ทำงานกับสารเคมีอันตรายไปตรวจสุขภาพ หากพวกเขาต้องทำงานหรือสัมผัสกับอันตรายจากสารเคมีจากการประกอบอาชีพที่ระบุไว้ตามข้อกำหนดของกฎหมาย
- ดำเนินการตรวจสอบสุขอนามัยเป็นประจำหากที่ทำงานมีการใช้สารเคมี
- ตรวจสอบให้แน่ใจว่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ทั้งหมดอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน และควบคุมดูแลให้ผู้ปฏิบัติงานสวมใส่ตลอดเวลาที่ต้องสัมผัสกับสารเคมีในที่ทำงาน
บทบาทของพนักงาน
นอกจากนายจ้างมีหน้าที่ด้านความปลอดภัยในการทำงานกับสารเคมีแล้ว ลูกจ้างเองก็มีหน้าที่ด้วยเช่นกัน ต่อไปนี้คือหน้าที่ด้านความปลอดภัยเมื่อต้องทำงานกับสารเคมีสำหรับลูกจ้าง
- ให้ความร่วมมือกับนายจ้างในการดำเนินงานด้านความปลอดภัย
- ดูแลสถานที่ทำงานให้ปลอดภัยปราศจากอันตรายและรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล
- ใช้ PPE ตามข้อกำหนดที่นายจ้างกำหนดไว้
- ปฏิบัติตามคำแนะนำและขั้นตอนการทำงานที่ปลอดภัยที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด
- ศึกษาข้อมูลของสารเคมีที่คุณใช้งานอยู่รวมถึงความเสี่ยงและวิธีการป้องกันตนเองจากอันตรายของสารเคมี
- ไม่กระทำการโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของตัวคุณเองหรือผู้อื่น
สรุป
การทำงานกับสารเคมีสามารถก่อให้เกิดอันตรายได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งความรุนแรงของสารเคมีขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ระยะเวลาที่รับสัมผัส ปริมาณความเข้มข้นของสารเคมีแต่ละชนิด ซึ่งเมื่อต้องทำงานกับสารเคมีจำเป็นต้องปฏิบัติตามขั้นตอนและมาตรการด้านความปลอดภัยที่กำหนดไว้ เพื่อป้องกันตนเองจากอันตรายต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นทั้งในระยะสั้นและระยะยาว